วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

การจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามแบบบูรณาการ


         ลักษณะการจัดการเรียนการสอนศาสตร์สาระอิสลามที่ผ่านมาหรือในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในระดับฟัรดูอีน ตาดีกา ซานะวีย์ อะลีย์ หรือกุลลียะห์ เป็นวิธีการเรียนที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาวิชามากกว่าการเรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริง และไม่เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์ การแสดงความคิดเห็น การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมในสังคม ผลของการใช้หลักสูตรทุกระดับ ยังมีข้อจำกัดหลายประการ การสอนแยกออกเป็นวิชา ทำให้การเรียนรู้แยกกันเป็นส่วนๆ ไม่สัมพันธ์หรือไม่สอดคล้องกัน ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมน้อย ส่วนใหญ่มักจะเรียนในห้อง ไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความเป็นจริงนอกห้องเรียน
         ในชีวิตของคนเราจะพบสิ่งต่างๆ มากมายหลายชนิด หลายประเภทในเวลาเดียวกันประสบการณ์ต่างๆ หรือปัญหาทั้งหลายจะเกี่ยวข้องกันหรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทุกคนจะใช้ทักษะหลายๆ อย่าง ในการเรียนรู้ประสบการณ์และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดหรือลดน้อยลงไป
         ตามนัยนี้ มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของการสอนแบบบูรณาการไว้ว่า การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง วิธีการสอนโดยนำสิ่งหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานกัน เพื่อให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับสภาพชีวิตจริง โดยทั่วไปจะเน้นที่การบูรณาการเทคนิควิธีการสอนโดยใช้หลาย ๆ วิธีผสมผสานกัน และการบูรณาการเนื้อหาสาระวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน

          นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความหมายไว้อีกมากมาย อาจสรุปได้ว่า การสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีการสอนหลายวิธี จัดกิจกรรมต่างๆ ในการสอนเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนมีการฝึกทักษะต่าง ๆ ที่หลากหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น